fbpx

การพัฒนาแบรนด์

แบรนด์ หรือ ตราสินค้า มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งบอกว่าชื่ออะไร เป็นของใคร แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนแนวคิด ตัวตน และคุณค่าขององค์กรต่อกลุ่มเป้าหมาย ผ่านกระบวนการสื่อสารผ่านสื่อที่หลากหลายไปในทิศทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกัน แบรนด์ ก็มีวงจรชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ ทั้งในช่วงเกิด เติบโต ชะลอวัย และอาจสูญสิ้นไปได้ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้สอดคล้องกับคุณค่าทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

การพัฒนาแบรนด์

การพัฒนาแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ เป็นที่จดจำ ประทับใจ และตอบสนองแรงปรารถนาของกลุ่มเป้าหมาย อาศัยองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์หรือตราสินค้า (Brand Identity) เพื่อนำเสนอตัวตน (Essense) คุณค่า(Value) และอารมณ์ (Emotion) เพื่อเร้าให้เกิดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างองค์กรกับกลุ่มเป้าหมาย 2)  การเล่าเรื่องราวของแบรนด์หรือตราสินค้า (Brand Story) เพื่ออธิบายความแตกต่างและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน อันเป็นคุณค่าขององค์กร เพิ่มเติมจากหน้าที่พื้นฐาน (Functional) ของสินค้าหรือบริการในการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมาย

หลายองค์กร ตระหนักถึงความสำคัญของแบรนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากเวลาผ่านไป สถานะขององค์กรอาจเปลี่ยนแปลง เป็นผลจากคู่แข่ง พฤติกรรมผู้บริโภค สภาพเศรษฐกิจ ค่านิยมในสังคม จึงได้พิจารณานำ 2 กลยุทธ์เข้ามาประยุกต์ใช้ 

1) การรีแบรนด์ (Rebranding) เป็นการปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งองค์กร ทั้งในส่วนของเอกลักษณ์ การปรับโครงสร้างธุรกิจ การเปิดตลาดใหม่หรือกลุ่มเป้าหมายใหม่ และปรับการรับรู้ใหม่ทั้งหมดของกลุ่มเป้าหมาย หรือ 

2) แบรนด์รีเฟรช (Brand Refresh) เป็นการปรับปรุงรูปลักษณ์ โลโก้ ฟอนท์ ข้อเสนอหรือคุณค่าใหม่ขององค์กร รูปแบบและเครื่องมือการสื่อสาร  เพื่อตอกย้ำตัวตนให้เป็นที่จดจำ ให้สามารถเข้าถึงเป้าหมายเดิมและใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทั้งในแง่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรและกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว อะไรที่คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จะได้รับความสนใจน้อยลง อันเกิดจากความเคยชิน แม้ว่าสิ่งเดิมนั้นจะดีอยู่แล้ว แต่บุคคลมักต้องการสิ่งที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินงานการพัฒนาแบรนด์ จะสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี บุคลากรภายในองค์กรจำเป็นต้องมีความเข้าใจและมีส่วนร่วม ดังนั้น หลักสูตรนี้ จึงออกแบบมาเพื่อแสวงหา 

1) แนวทางเอกลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ซึ่งจะช่วยในด้านการกำหนดโฆษกองค์กรและการออกแบบสื่อ และ

2) การเล่าเรื่องของแบรนด์ (Brand Story)  ซึ่งจะช่วยในการกำหนดแนวทางของเนื้อหาหลักเพื่อการสื่อสาร

หลักสูตรนี้ เป็นการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้ความสำคัญในการปฏิบัติ เพื่อระดมความคิดเห็นและวิเคราะห์ประเด็นสื่อสาร ให้สามารถนำข้อสรุปไปประยุกต์ปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบรนด์หรือตราสินค้า
  2. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ และการเล่าเรื่องของแบรนด์
  3. เพื่อพัฒนาแนวทางเอกลักษณ์ของแบรนด์ และอธิบายเรื่องราวของแบรนด์ ความแตกต่างและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน อันเป็นคุณค่าหลักขององค์กร

สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบรนด์หรือตราสินค้า
  2. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ของแบรนด์ และการเล่าเรื่องของแบรนด์
  3. ได้แนวทางในการกำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วยบุคลิกภาพ และอธิบายเรื่องราวของแบรนด์ ความแตกต่างและข้อได้เปรียบในการแข่งขัน อันเป็นคุณค่าหลักขององค์กร

กรอบเนื้อหาการบรรยาย

  • แนวคิดและการพัฒนาแบรนด์
  • เอกลักษณ์ของแบรนด์ บุคลิกภาพของแบรนด์ การออกแบบและเทมเพลตของธุรกิจ
  • การพัฒนาธีมเนื้อหาหลักเพื่อการสื่อสาร

กรอบเนื้อหาการฝึกปฏิบัติ

  • การกำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้านบุคลิกภาพ
  • การกำหนดเนื้อหาหลักเพื่อการสื่อสาร
  • กรอบแนวทางการฝึกปฎิบัติ
    • การแบ่งกลุ่ม : จัดกลุ่มเป็น 5 กลุ่ม จำแนกตามกลุ่มอายุในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
    • เครื่องมือการฝึกปฏิบัติส่วนผู้เข้าอบรม : จัดเตรียมคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรม Powerpoint เพื่อใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูลและประกอบการนำเสนอ กลุ่มละ 1 เครื่อง
    • รูปแบบการฝึกปฏิบัติ : ผู้เข้าอบรมจะได้รับการฝึกปฏิบัติตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อระดมความคิดเห็นของกลุ่ม แล้วคณะวิทยากรจะเป็นผู้สรุปผลของแต่ละโจทย์ที่ฝึกปฏิบัติ